ประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นอย่างนี้

สมมุติว่ามีประเทศอยู่ประเทศหนึ่ง มีผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการมีชีวิตที่ประหยัด เรียบง่าย มีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่ดีงามและเป็นสุข นอกจากนี้ ยังสามารถสอนประชาชนให้พึ่งตนเองได้ในปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับชีวิต เช่น การสร้างอาหาร การดูแลสุขภาพ เป็นต้น และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ก็มีชีวิตที่ประหยัด เรียบง่าย ร่างกายแข็งแรง มีจิตใจที่ดีงามและเป็นสุขเช่นกัน ทุกคนมีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเกื้อกูล ช่วยเหลือแบ่งปันกันในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นประเทศที่สงบสุข มีความอุดมสมบูรณ์ ผู้คนเบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ทำสงครามกับประเทศอื่น มีแต่ส่งความช่วยเหลือไปให้ต่างประเทศเท่าที่จะทำได้ แต่ทว่า… ประเทศนี้ไม่มีการเลือกตั้ง คุณคิดว่าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่?

คำว่า “ประชาธิปไตย” มีความหมายตามพจนานุกรมว่า “ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ การถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่” และคนส่วนใหญ่ในประเทศก็เข้าใจว่าต้องมี “การเลือกตั้ง” จึงจะเป็นประชาธิปไตย จนมีการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั้งในการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมีการเลือกตั้งมาแล้วมากมายหลายครั้ง ในความรู้สึกของประชาชนจำนวนหนึ่งยังคงสงสัยอยู่ว่า เราได้มี “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” กันแล้วหรือยัง แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีนักคิดนักเขียน นักวิชาการ พยายามแสวงหาความหมายของประชาธิปไตยที่แท้จริงกันอยู่เสมอ

สำหรับพรรคสัมมาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหม่ มีแนวทางในการทำงานการเมืองแตกต่างจากพรรคอื่นๆ มีนิยามของคำว่า “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ตามคำกล่าวของ ดร. ใจเพชร กล้าจน (อาจารย์หมอเขียว) หัวหน้าพรรคว่า คือ


“อำนาจ พลัง ความรู้ ความสามารถ ที่สร้างผลให้พ้นทุกข์ ให้อยู่เย็นเป็นสุขได้ เป็นอำนาจ เป็นพลังที่สร้างความอยู่เย็นเป็นสุขที่แท้จริงให้กับชีวิตทุกชีวิต ทั้งตัวเองและผู้อื่น”

(11 ธันวาคม 2566 สวนป่านาบุญ 2)

นอกจากนี้ ท่านยังกล่าวย้ำอยู่เสมอว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตย เป็นเพียงการคัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งไปบริหารประเทศเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วจะได้คนดี มีความรู้ ความสามารถ เข้าไปบริหารประเทศให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขได้ ดังนั้น งานการเมืองของพรรคสัมมาธิปไตยจึงไม่ได้สนใจการเข้าสู่อำนาจหรือการมีตำแหน่งจากการชนะเลือกตั้ง แต่ทุ่มเทไปในการรวบรวมคนดีมีศีลธรรม มาร่วมกันสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขให้กับตนเอง ให้สามารถพึ่งตนเองได้ และมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป สอดคล้องกับคำขวัญของพรรคที่ว่า “หาศีล ไม่หาเสียง”

จะเห็นได้ว่า ความหมายของประชาธิปไตยตามนิยามของพรรคสัมมาธิปไตยนั้น เน้นไปที่ผลสัมฤทธิ์ คือความอยู่เย็นเป็นสุขอย่างแท้จริงของประชาชน มากกว่าวิธีการให้ได้มาซึ่งอำนาจการบริหารประเทศ และการทำงานของพรรคในรูปธรรมจริง ๆ ก็เป็นเช่นนั้นด้วย งานหลักที่สำคัญที่สุดของพรรคสัมมาธิปไตยในขณะนี้คือ การจัดอบรม “ค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม” ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้ ความสามารถในการพึ่งตนเองในสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตทุกด้าน ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการทำกสิกรรมไร้สารพิษ การมีชีวิตทางเศรษฐกิจที่พอเพียงและมั่นคง การใช้พลังงานพึ่งตน และการสร้างหมู่กลุ่มของคนดีมาเป็นนักเสียสละทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ท่านหัวหน้าพรรคจึงกล่าวว่า “ค่ายสุขภาพฯ นี่แหละคืองานการเมืองของพรรคสัมมาธิปไตย”

นอกจากนี้ ดร. ใจเพชร กล้าจน หรืออาจารย์หมอเขียว ยังได้ชี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในระหว่างการอบรมค่ายสุขภาพฯ ด้วยว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น เป็นแบบที่พี่น้องผู้เข้าค่ายมาฝึกฝนกันในค่ายนี่แหละ ช่วงเวลาการอบรม 5 วันที่พี่น้องมาใช้ชีวิตอยู่ในค่ายสุขภาพฯ นั้น เป็นชุมชนเล็กๆ ที่เรียนรู้ฝึกฝนการเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะสิ่งที่พี่น้องได้เรียนรู้ในค่ายนั้นจะช่วยให้พี่น้องมีอำนาจ พลัง ความรู้ ความสามารถที่จะพาตนเองให้พ้นทุกข์ ให้อยู่เย็นเป็นสุขได้มากขึ้นไปเป็นลำดับๆ และมีน้ำใจเสียสละแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้ผู้อื่นได้ด้วย พี่น้องที่เข้ามาเรียนรู้ในค่ายสุขภาพฯ จะสัมผัสถึงประโยชน์สุขนั้นได้ด้วยตนเองเลยทีเดียว จนบางคนอาจจะบอกว่า ถ้าไม่มีภาระอะไรทางบ้าน แล้วมาอยู่แบบนี้ทั้งปี ก็จะอยู่รอดและเป็นสุขได้ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย

หากเราลองจินตนาการย่อส่วนประเทศทั้งประเทศให้เล็กลงมาเหลือแค่ชุมชนที่เกิดขึ้นแบบเฉพาะกิจในค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม เราจะเห็นโมเดลสังคมประชาธิปไตยตามนิยามของพรรคสัมมาธิปไตยได้ชัดเจน นั่นคือ มีอาจารย์หมอเขียวเป็นผู้นำในการบริหารปกครอง มีทีมของจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานด้านต่างๆ ตามความถนัดของแต่ละคน มีพี่น้องที่มาเข้าค่ายเป็นราษฎรที่ยินดีให้ทีมงานของอาจารย์บริหาร เพื่อจัดสรรองค์ประกอบต่างๆ ในค่ายสำหรับการถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ ให้พี่น้องมีอำนาจ มีพลังในการพึ่งตนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และมีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ จนอาจารย์หมอเขียวได้กล่าวว่า “นี่แหละการบริหารแบบสัมมาธิปไตย” เราทำเป็นตัวอย่างให้โลกได้เห็นว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นอย่างนี้

แม้จะเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ที่เกิดขึ้นชั่วคราวในค่ายสุขภาพ มีสมาชิกรวมกันประมาณ 100-200 คนเท่านั้น เมื่อจบจากค่ายพี่น้องก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านของแต่ละคนเหมือนเดิม แต่พลัง ความรู้ ความสามารถที่พี่น้องได้รับการถ่ายทอดไปจากการอบรม จะซึมซับเข้าไปในวิถีชีวิตจริงของพี่น้องทีละน้อยๆ หากพี่น้องที่ผ่านการอบรมยังคงพยายามปฏิบัติตามทิศทางที่ได้เรียนรู้จากในค่ายอย่างต่อเนื่อง พี่น้องจะค่อยๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของตนเอง แม้จะอยู่ที่บ้านเหมือนเดิม แต่วิถีชีวิตจะไม่เหมือนเดิม พี่น้องจะมีพลังความสามารถในการพึ่งตนเองได้มากขึ้น มีน้ำใจเสียสละแบ่งปันให้คนรอบข้างได้มากขึ้น พลังนี้จะแผ่กระจายออกไปสู่ผู้คนในชีวิตจริงของพี่น้องได้มากขึ้นๆ จนวันหนึ่งจะมากพอที่จะส่งผลสั่นสะเทือนสังคมประเทศชาติให้คนส่วนใหญ่สามารถพึ่งตนในการพ้นทุกข์และมีน้ำใจเกื้อกูลกันโดยทั่วไปได้ แม้จะฟังดูเหมือนเป็นความฝันอันยาวไกล แต่ท่านหัวหน้าพรรคและเหล่าสมาชิกพรรคที่เป็นจิตอาสาทั้งหลายต่างก็ทุ่มโถมพลัง ปัญญา ความสามารถทั้งหมดที่มีเพื่อการทำงานนี้ ตามคำขวัญของพ่อครู สมณะโพธิรักษ์ ผู้นำและผู้พาทำของชาวอโศกที่ว่า “เราไม่รอ ไม่หวัง แต่เราทำ” และนี่แหละคืองานการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงของพรรคสัมมาธิปไตย

จางคลาย
18 ธันวาคม 2566

เรื่องที่เกี่ยวข้อง